ความคิดเห็นที่ 12
๙. การวางใจเฉยต่ออารมณ์ (อุเบกขา) ปกติธรรมดาทั่วไปของปุถุชนผู้ที่ไม่ได้ฝึกจิตให้สงบ ให้นิ่ง จิตจะฟุ้งกระจายไปตามอารมณ์ที่มีมาสัมผัสทางอายตนะ (ทางเชื่อมต่อการรับรู้ หรือประตู(ทวาร)) เชื่อมต่ออารมณ์ ๖ ทาง (ทางตา คือ เห็น, ทางหู คือ ได้ยิน, ทางจมูก คือ ได้ดมกลิ่น, ทางลิ้น คือ ชิมรส, ทางผิวหนังร่างกาย คือ กระทบ และทางใจ คือ การรับรู้และคิด) จิตจะเปลี่ยนไปรับอารมณ์ทางประตูการรับรู้ทั้ง ๖ นั้น สลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลาและเร็วมากจนตัวเราเองก็กำหนดไม่ได้ว่ามันเร็วเพียงใด
ในเรื่องของจิตที่มีการเปลี่ยนแปลงประตูการรับอารมณ์นี้ขอยกตัวอย่าง ดังนี้ เวลาเราสนทนากับใครคนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ต่อหน้าเราเวลาเขาพูดกับเรา เราจะเห็นริมฝีปากของเขาขยับขึ้นลงและได้ยินเสียงเขาพูดออกมาพร้อมกันเป็นเวลาเดียวกันเลย สิ่งที่ต้องการจะบอกในที่นี้ก็คือ ตามปกติแล้วจิตของเราจะทำงานพร้อมกัน ๒ ทางในเวลาเดียวกันไม่ได้ คือ เวลาได้ยินก็ขณะหนึ่ง เวลาเห็นก็ขณะหนึ่ง การที่เราเห็นคู่สนทนาของเราพูดและได้ยินเสียงพูดของเขาด้วยพร้อมกัน ก็เพราะว่าจิตของเรามันทำงานเร็วมากจนเรากำหนดไม่ได้ ท่านกล่าวไว้ว่าการที่ตาของเรากระทบกับภาพครั้งหนึ่งก่อนที่จิตจะเปลี่ยนไปรับรู้ทางหูนั้น จิตเกิดดับตัดสินอารมณ์ไปแล้ว ๑๗ เท่า หรือ ๑๗ ขณะ
ดังนั้น เราจึงไม่สามารถกำหนดได้ว่ามันเร็วเท่าไร พระพุทธองค์ตรัสเรื่องการเกิดดับของจิตนี้ว่าเร็วมากยากที่จะเปรียบเทียบไว้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นสิ่งอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้เร็วเหมือนจิต จิตมีการเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าใดนั้น แม้จะอุปมาก็กระทำได้มิใช่ง่ายเลย (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ข้อ ๔๘ หน้า ๑๑)
คราวนี้หันกลับมาพูดเรื่องที่ค้างไว้ว่า การที่ผู้ปฏิบัติกรรมฐานมาจนสามารถทำจิตให้วางเฉยต่ออารมณ์ได้นี้ ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า จิตมีความนิ่งมากและอยู่ในอำนาจได้มากจนสามารถบังคับไม่ให้จิตรับอารมณ์ได้
เรื่องนี้ขอเล่าเรื่องตอนที่ภิกษุรูปหนึ่งพูดสรรเสริญนักบวชนอกศาสนาว่ามีจิตเป็นสมาธินิ่งมากจนสามารถบังคับจิตให้อยู่แต่เฉพาะในสมาธิจนไม่รู้ว่าสถานที่ตรงที่ท่านนั่งอยู่นั้นมีพวกพ่อค้าเกวียน ๕๐๐ เล่มขับเกวียนเดินผ่านหน้าไป ส่วนพระพุทธองค์ได้ตรัสว่านั่นไม่น่าอัศจรรย์หรอก เราเองขณะยังไม่บรรลุเป็นพระพุทธเจ้านั่งสมาธิอยู่มีฝนตกลงมาห่าใหญ่ ฟ้าคำรามร้องลั่น และฟ้าผ่าลงมาถูกคนและควายล้มตายไปหลายตัว มีผู้คนจำนวนมากมามุงดู แม้เรานั่งสมาธิอยู่ที่ตรงนั้นยังไม่รู้เลย
เรื่องนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงเพื่อให้รู้ว่าจิตของเราถ้าฝึกถูกวิธีแล้ว สามารถทำให้อยู่ในอำนาจได้และมีพลังมาก แม้บังคับให้รับรู้อารมณ์เพียงประตูการรับรู้เดียวก็ได้ ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ ที่มาสัมผัสกับประตูการรับรู้ที่เหลือ จิตจะไม่มีการรับรู้เลย เรียกว่าไม่ตอบสนองอารมณ์ที่ไม่ต้องการรับรู้
การวางเฉยต่ออารมณ์ในข้อนี้เป็นทักษะความสามารถของผู้ที่ฝึกจิตมาได้นิ่งแล้ว ดังเช่นพระพุทธองค์ขณะยังไม่บรรลุธรรมก็ทรงทำได้ ซึ่งเป็นความสามารถของผู้ฝึกจิตตามที่กล่าวแล้วยังไม่ใช่การบรรลุธรรม
ดังนั้น แม้ผู้ปฏิบัติกรรมฐานจะทำจิตให้วางอุเบกขาได้เช่นนี้แล้ว ต้องฝึกปฏิบัติต่อไปไม่พึงหลงยินดีกับความสามารถหรืออาการเช่นนี้
จากคุณ :
ปราชญ์ขยะ
- [
12 มิ.ย. 50 11:17:14
]
|
|
|