28ประเด็นร้อนรธน.ใหม่
ที่มา - กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สรุปแนวคำถามเพื่อสอบถามความเห็นประชาชนเพิ่มเติม จากเดิมที่กำหนดไว้ 20 ประเด็น เป็น 28 ประเด็น ใช้เป็นแนวทางในการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดเสร็จภายในวันที่ 10 มีนาคม
1.ควรลดจำนวน ส.ส.และ ส.ว.ลงหรือไม่ เช่น ให้เหลือรวมกันไม่เกิน 500 คน
2.ควรมี ส.ส.แบบมีรายชื่อพรรค (ปาร์ตี้ลิสต์) หรือไม่
3.ส.ส.ต้องจบปริญญาตรีหรือไม่
-ในกรณี ถ้ามี ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ รวมทั้ง ส.ว.ต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีด้วยหรือไม่
4.ส.ส.ควรสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ หากเห็นว่าต้องสังกัดพรรคควรจะต้องกำหนดระยะเวลาในการสังกัดพรรคก่อนวันรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นระยะเวลาเท่าใด
5.ส.ส.ควรมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่และการลงมติในเรื่องต่างๆ มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่
6.ควรกำหนดเขตเลือกตั้งเป็นเขตละคนเช่นเดิม หรือควรกำหนดเขตเลือกตั้งให้ใหญ่ขึ้น และมีจำนวน ส.ส.ในเขตมากขึ้นหรือไม่
7.ส.ว.ควรมาจากการสรรหาจากตัวแทนของทุกภาคส่วนในสังคมแทนการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่
8.ถ้า ส.ว.มาจากการสรรหาควรให้มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองหรือไม่
9.ควรให้มีองค์กรหรือฝ่ายตุลาการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ เช่น การตรวจสอบการใช้อำนาจของ กกต.ตามกรอบเวลาที่กำหนดหรือการใช้อำนาจวินิจฉัย และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
10.นายกรัฐมนตรีควรมาจาก ส.ส.โดยตรงและควรคงสมาชิกภาพ ส.ส.ในขณะเดียวกันหรือไม่
11.ควรกำหนดให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งได้เพียงไม่เกิน 2 วาระติดต่อกันหรือไม่เกิน 8 ปีเท่านั้นหรือไม่
12.ควรห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งในระหว่างการดำรงตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วในระยะหนึ่งหรือไม่
13.นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีควรถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้นหรือไม่
14.ควรกำหนดให้ชัดเจนว่ากรณีที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแม้ว่าจะเป็นเพียงการให้รอลงอาญาก็ควรให้พ้นจากตำแหน่งด้วยหรือไม่
15.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญควรปลอดจากการครอบงำทางการเมืองอย่างแท้จริงหรือไม่
16.ควรมีการกำหนดคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมืองและมีบทลงโทษกรณีที่ฝ่าฝืนด้วยหรือไม่
17.ควรกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยมีระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกันมากขึ้นหรือไม่
18.ควรเพิ่มอำนาจและบทบาทให้แก่ชุมชนในการพัฒนาชุมชนและการมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่
19.ควรให้ประชาชนมีหลักประกันในเรื่องสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นด้วยการตรากฎหมายรองรับในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และควรเพิ่มอำนาจให้แก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้นหรือไม่
20.ควรมีการบัญญัติเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนด้านต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เพื่อก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่
21.ควรมีกรอบระยะเวลาในการตรากฎหมายเพื่ออนุวัติการให้เป็นตามหลักการที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญโดยชัดเจนหรือไม่
22.ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การถอดถอน และการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรงหรือไม่
23.นายกรัฐมนตรีต้องมาตอบกระทู้ถามในสภาหรือไม่
24.นักการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดทุจริตหรือมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ไม่ควรมีอายุความในการฟ้องคดี ใช่หรือไม่
25.ควรมีกำหนดกลไกหรือมาตรการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองที่กระทำต่อข้าราชการประจำและการควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ใช่หรือไม่
26.ควรลดจำนวนประชากรในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนนักการเมืองและการตรากฎหมาย ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่นหรือไม่
27.ควรมีการกำหนดงบประมาณให้แก่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในจำนวนที่ชัดเจนตามสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือไม่
28.ควรให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนลำดับถัดไป เป็น ส.ส. แทนผู้สมัครที่ได้ใบเหลืองใบแดง โดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่หรือไม่
จากคุณ :
อยากเม้าส์
- [
9 ก.พ. 50 23:45:46
A:124.120.50.86 X:
]