ความคิดเห็นที่ 8
(ต่อครับ) ปัญหาที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่แต่เฉพาะกับการเมืองในประเทศ แต่กับเศรษฐกิจระหว่างประเทศของชาติด้วย ผมขออธิบาย: -
ที่ดินเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ แต่ก็ดังที่มีงานวิจัยพบว่า ปัจจุบันชาติของเรามีที่ดินใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ 70%, มีที่ดินเกษตรกรรมทิ้งร้าง 30 ล้านไร่, ทำให้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะใช้ที่ดินนอนนิ่งเหล่านั้นทำการผลิตทางเกษตรไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เป็นมูลค่าถึงปีละ 1.2 แสนล้านบาท, กล่าวเฉพาะภาคเหนือตอนบน พื้นที่ออกโฉนดโดยมิชอบ+ที่ดินซึ่งถูกนายทุนทิ้งร้างทั้งหมด = 11,390 ไร่
เพราะใช้ทรัพยากรสำคัญของชาติไม่เป็น ใช้ไม่เต็มที่ ใช้ล้มเหลวอย่างนี้ ชาติไทยจึงอ่อนแอกะปลกกะเปลี้ยซวนเซทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์
เรามักเข้าใจกันว่าโลกาภิวัตน์เป็นยุคแห่งการค้าเสรีที่มีอเมริกาเป็นแกนนำผลักดัน - นี่เป็นความเท็จ!
ตัวอย่างที่ 1) เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบุชของอเมริกาเพิ่งประกาศมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กกล้าเก่าแก่ขนาดใหญ่ในประเทศ ด้วยการกำหนดโควตาและตั้งกำแพงภาษีกีดกันผลิตภัณฑ์เหล็กกล้านำเข้าบางชนิดจากต่างประเทศตั้งแต่ 8-30% เป็นเวลาสามปี ส่งผลกระทบประเทศผู้ส่งออกเหล็กกล้าไปอเมริการายสำคัญได้แก่ สหภาพยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่นและบราซิล
มาตรการดังกล่าวเป็นผลให้เรือขนเหล็กกล้าส่งออกจากญี่ปุ่นไปอเมริกาลำหนึ่ง พอเจอภาษีอเมริกันขึ้นสูง ก็เลยเบนเข็มหันหัวเรือวกกลับกลางทะเล กะจะขนเหล็กกล้าไปส่งจีนแทน ปรากฏว่า จีนไม่ยอมรับ เกรงจะกระทบอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในประเทศของตนบ้าง เรือเคราะห์ร้ายลำนี้จึงต้องเบนหัวออกทะเลอีกครั้งโดยยังไม่รู้จุดหมาย นักวิเคราะห์เชื่อว่าในระยะถัดไป ผลกระทบจากมาตรการคุ้มครองการค้าของอเมริกาจะทำให้เรือขนเหล็กกล้าส่งออกจากประเทศต่างๆ ลอยเคว้งคว้างเท้งเต้งไปมาเกลื่อนทะเล หาท่าส่งสินค้าเหล็กขึ้นฝั่งมิได้ และนานาประเทศอาจพากันหันไปคุ้มครองและกระตุ้นอุตสาหกรรมเหล็กกล้าของตนแทนการค้าเหล็กเสรี
ตัวอย่างที่ 2) เมื่อ 13 พฤษภาคมศกนี้ ประธานาธิบดีบุชอีกเหมือนกันได้ประกาศใช้กฎหมาย "Farm Security and Rural Investment Act of 2002" เพื่อให้เงินงบประมาณอุดหนุนเกษตรกรอเมริกันเพิ่มอีก 80% เป็น 189,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 10 ปี ทั้งนี้ นอกจากจะทำให้สินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่ส่งเข้าตลาดอเมริกันเสียเปรียบแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกรวมทั้งที่ส่งออกจากไทยโดยเฉพาะข้าวซึมยาวอย่างแน่นอนเพราะต้องไปต่อสู้ราคากับเงินอุดหนุนก้อนมหึมานั้น
ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ทั้งสองสอนไทยและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายว่า.....
-free trade ที่อเมริกาพร่ำป่าวร้องส่งเสริมไม่ free จริง แต่ free เฉพาะเมื่ออเมริกาได้เปรียบ, ถ้าอเมริกาเสียเปรียบเมื่อไหร่ มันก็จะไม่ free ทันที
-เพื่อเปลี่ยน free trade เก๊ๆ ในโลก "สุนัขขย้ำสุนัข ใครแกร่งกว่าคาบเนื้อไป" ทุกวันนี้ให้เป็น -> fair trade หรือการค้าที่เป็นธรรม ชาติคู่ค้าเล็กๆ รวมทั้งไทยต้องหันมาร่วมมือกันโดยแต่ละชาติต้องเสริมสร้างกำลังเศรษฐกิจสังคมภายในของตนให้แข็งแกร่งพอ จึงจะมีอำนาจเจรจาต่อรองเงื่อนไขการค้ากับมหาอำนาจอย่างไม่เสียเปรียบได้
คำถาม: - ทำยังไงชาติไทยจะแข็งแกร่ง?
อันที่จริงชาติเรามีฐานทรัพยากรเป็นทุนเดิมไม่ว่าป่า ดิน น้ำ ชีวภาพ แร่ธาตุ อุดมสมบูรณ์มากมาย, เปี่ยมล้นศักยภาพที่จะสร้างเสริมชาติให้แข็งแกร่งได้ ถ้าเราจัดการทรัพยากรเหล่านั้นเป็นและจัดการได้ดี
แต่สภาพจริงกลับกัน ชาติเราไม่เพียงไม่แข็งแกร่ง แถมห้าปีก่อนยังล้มคว่ำคะมำหงาย ล้มละลายเงินไหลออกปางตายในวิกฤตเศรษฐกิจนับแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2540 เป็นต้นมา เราต้องถูกมหาอำนาจต่างชาติบีบต้อนแหกตาข่มเหงเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราจัดการทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของเราไม่เป็น ไม่ดี พูดตรงๆ คือเราล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรของชาติ
เราล้มเหลวเช่นนั้นเพราะชาติไทยเราเสียดุล - เสียดุลทางเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมายและสังคม คือให้รัฐกับทุนเอกชนมีอำนาจมากไป ขณะชุมชนอ่อนด้อยอำนาจ, เศรษฐกิจการค้ากับเศรษฐกิจฟองสบู่ชิงทรัพยากรไปใช้มากไป ขณะเศรษฐกิจชุมชน-พอเพียงเสียฐานทรัพยากรร่อยหรออ่อนแอ, ตลาดกับรัฐชี้นำกำกับสังคมไปตามทางพัฒนาสายเดี่ยวเกินไป ทางเลือกการพัฒนาสายชุมชนคับแคบตีบตัน, กฎหมายก็รับรองกรรมสิทธิ์เอกชนและรัฐเป็นหลัก ให้ความสำคัญสิทธิชุมชนน้อยไปและไม่มีมาตรการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมีประสิทธิผลพอ ดังที่ องค์กรประชาชนและเอ็นจีโอภาคเหนือได้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงอันเจ็บปวดเบื้องหลังความล้มเหลวของชาติครั้งนั้นไว้กระชับชัดในเอกสารเรื่อง "ข้อเท็จจริงกรณีปัญหาการออกเอกสารสิทธิทับที่สาธารณประโยชน์ บ.ศรีเตี้ย ม.3 บ.ศรีเจริญ ม.6 และ บ.ศรีลาภรณ์ ม.7 ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน" ตอนหนึ่งว่า: -
"เมื่อทางการจะปฏิรูปที่ดิน ควรนำเอาที่สาธารณะแห่งนี้มาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่เคยใช้ประโยชน์บนที่ดินผืนนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้นายทุนเอาไปออกโฉนดเป็นสมบัติส่วนตัว แล้วตีค่าที่ดินผืนนี้ด้วยราคาไม่กี่ร้อยล้านบาท แล้วเอาเงินจากแบงก์ ทำให้แบงก์ล้มเกิดความเสียหายแก่สังคมประเทศชาติ จนปัจจุบันยังแก้ปัญหาหนี้เอ็นพีแอลไม่ได้ เพราะไปทำให้ที่ดินเป็นสินค้า ไม่ได้ทำให้ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิต หรือเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงประชากรโลก"
สรุปคือ [national failure <- state failure + market failure]; ความล้มเหลวใหญ่ของชาติครั้งนั้นเกิดจากรัฐล้มเหลวและตลาดล้มเหลว, ทั้งรัฐและตลาดที่ได้รับมอบอำนาจผูกขาดรวมศูนย์เหนือทรัพยากรสำคัญของชาติต่างประสบความล้มเหลวสิ้นท่าในการจัดการมัน
เพื่อปรับสถานะของชาติให้คืนสู่สมดุล เราต้องปรับการจัดการทรัพยากรของชาติที่ตะแคงเค้เก้ไปทางรัฐและตลาดจนล้มเหลวล้มละลายกันอยู่จะจะเสียใหม่ โดยให้ชุมชนหรือนัยหนึ่งผู้ผลิตที่จัดตั้งกันขึ้นเป็นสหกรณ์ช่วยกอบกู้ที่ดินอันเป็นต้นทุนทรัพย์สมบัติดั้งเดิมของชาติของสังคม คืนมาจากทุนเอกชนที่ทำให้มันกลายเป็นแค่ฟองสบู่ ในสภาพที่รัฐก็รักษาไว้มิได้ ให้กลับมาเป็นปัจจัยการผลิตของเศรษฐกิจจริง สร้างโภคทรัพย์ทางเศรษฐกิจ เพิ่ม GDP งอกเงยงอกงามแก่ชาติส่วนรวม
การเพิ่มอำนาจและคืนทรัพยากรที่ดินแก่ชุมชน ก็คือการลงทุนในเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม ให้ชุมชนสร้างฐานที่มั่นของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเหนือตอนบนขึ้นมา ซึ่งจะเป็นแรงหนึ่งที่ช่วยดึงเศรษฐกิจสังคมไทยทั้งประเทศคืนสู่สมดุล ถ่วงความโน้มเอียงไม่มั่นคงสุ่มเสี่ยงอันตรายที่จะล้มเหลวของตลาดกับรัฐในกระแสเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์อันผันผวน เพิ่มกำลังและความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมให้แก่ชาติ ชาติไทยจะได้ไม่ล้มเหลวอีก
เมื่อชาติเข้มแข็งมีกำลังวังชาดีบนฐานเศรษฐกิจที่สมดุลระหว่าง [ชุมชน - รัฐ - ตลาด] แล้ว จะได้เข้าร่วมเวทีเศรษฐกิจการค้าเปิดของโลกแบบไม่ตกเป็นแพะให้ใครหลอกขย้ำซ้ำสอง หากมีกำลังความสามารถอำนาจต่อรองที่จะร่วมกับมิตรประเทศทั้งหลายทำ fake free trade ให้เป็น fair trade ขึ้นมา
จากคุณ :
สุธน หิญ
- [
16 ก.ย. 46 11:02:54
A:202.133.169.105 X:
]
|
|
|